วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558



พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) 
หลวงพ่อวัดปากน้ำ



* วิชชาธรรมกาย...มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างไร ?


๑.ในขั้น “สมถะ” หรือขั้นถึง “๑๘ กาย”  แล้วเริ่มพิจารณาสภาวธรรมนั้น 
พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านจะถ่ายทอดให้กับบุคคลทั่วไปเป็นประจำ  
แต่ส่วนมากจะเป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้น...เป็นหลักใหญ่

๒.ในส่วน “วิปัสสนา” นั้น 
พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะใช้วิธี “แสดงพระธรรมเทศนา” 
โดยท่านจะยกเอา “พระพุทธสุภาษิต” หรือ “พุทธวจนะ” มาแสดงก่อน 
แล้วก็อธิบายพุทธวจนะนั้น ทั้งในเชิง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

สำหรับ “ปริยัติ” นั้น อธิบายตามพระบาลี ตามหลักพระไตรปิฎก

ส่วน “ปฏิบัติ” นั้น หลวงพ่อทั้งปฏิบัติเอง และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติให้ทั้งรู้และเห็น 
เพราะฉะนั้นในการเทศน์ จึงเอาสิ่งที่ท่าน “เห็น” และสิ่งที่ท่าน “รู้” นำมาแสดง 
ซึ่งไม่มีที่ไหนแสดงถึงขนาดนี้ และผลของการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร...ท่านก็เอามาแสดง 
คือ ท่านแสดงพร้อมทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

เรื่อง "มหาสติปัฏฐาน ๔"  ส่วนใหญ่จะอยู่ในพระธรรมเทศนา ซึ่งมักจะสอนคนทั่วไป 
มีเหมือนกันในบางพระธรรมเทศนา จะมี “วิชชาชั้นสูงล้ำๆ” อยู่ด้วย 
แต่ผู้ฟังอาจฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง 
ผู้ที่ได้ ๑๘ กายแล้ว ตรึกตามก็พอจะเข้าใจได้

ยังมีการถ่ายทอดอีกช่วงหนึ่งที่สำคัญมาก สำหรับ “วิชชาธรรมกายชั้นสูง” คือ   
หลวงพ่อจะสอนวิชชาให้กับพระสงฆ์ที่เป็นวิชชา...ที่หลวงพ่อวางใจด้วย
คือ ต้องเป็นธรรมกายด้วย และต้องเป็นธาตุธรรมที่หลวงพ่อ...ตรวจดีแล้ว

บางท่านแม้เป็นธรรมกาย หลวงพ่อก็ไม่ถ่ายทอดให้ 
ท่านอาจจะมีญาณพิเศษของท่าน ว่าคนนี้ถ่ายทอดไปแล้วแทนที่จะเป็นผลดี...ก็อาจไม่ดี 
คือ จะเป็นฐานของภาคมารไป

ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด เท่าที่ทราบมีทั้งพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา

ทางฝ่าย "พระสงฆ์" ที่ได้รับการ “ถ่ายทอดวิชชาชั้นสูง” คือ
-   พระมหาจัน เปรียญธรรม ๕ ประโยค และท่านยังได้ “จดบันทึก”  ไว้ด้วย
-   พระครูวินัยธร (ชั้ว โอภาโส)
-   พระภาวนาโกศลเถร (ธีระ ธมฺมธโร)
-   พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)


-   ฯลฯ

เฉพาะเท่าที่ได้ยินชื่อในฝ่าย “อุบาสก , อุบาสิกา”  มี
-   อาจารย์แม่ชีปุก มุ้ยประเสริฐ
-   คุณยายทองสุข สำแดงปั้น
-   คุณครูญาณี ศิริโวหาร
-   คุณยายถนอม อาสไวย์
-   คุณยายเธียร ธีระสวัสดิ์
-   คุณครูฉลวย สมบัติสุข
-   คุณครูจันทร์ ขนนกยูง
-   คุณครูตรีธา เนียมขำ
-   คุณกุล ผ่องสุวรรณ

ในการถ่ายทอดนั้น มีทั้งได้รับมาก ได้รับน้อย คือ  
ในวิชชาชั้นสูง หลวงพ่อจะสั่งวิชชา ให้ทำวิชชาแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้ แก้โรคบ้าง แก้ปัญหาบ้านเมืองบ้าง เป็นต้น 
สมัยนั้นมีสงครามด้วย วิชชาธรรมกายจึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อสันติสุขของประเทศชาติเป็นส่วนรวม




พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)
รองเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ 
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ



วิชชาทั้งหมดทุกระดับนั้น 

เบื้องต้นใครๆก็ได้รับ...ไม่มีปัญหา

เบื้องกลาง คือ ระดับวิปัสสนา ....ที่เป็นพระธรรมเทศนานั้น 
ผู้ที่บันทึกไว้คือ ท่านเจ้าคุณพิพัฒน์ธรรมคณี โดยท่านได้บันทึกเทปไว้ 
ซึ่งท่านได้มอบเทปที่บันทึกไว้ทั้งหมดแก่ พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)

และท่านพระมหาจัน เปรียญธรรม ๕ ประโยค ซึ่งจดวิชชาเอาไว้ที่เป็น “วิชชาชั้นสูง” หรือ “วิชชาครู” นั้น 
ก็ตกทอดมายัง พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) เช่นกัน

เพราะฉะนั้น หลวงพ่อพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) 
รองเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 
จึงเป็นที่รวมของวิชชาธรรมกายตั้งแต่ เบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องสูง 

ขณะเดียวกันท่านก็ได้ “ถ่ายทอดวิชชา” ให้กับ พระราชญาณวิสิฐ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) 
เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 
.... ซึ่งมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
โดยตรงก็ “สอน” กัน
โดยอ้อมก็ให้ “รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นตำรา”
ซึ่งได้รวบรวมเรียบเรียงใน ระดับสมถวิปัสสนา และ มหาสติปัฏฐาน ๔ รวมทั้งพระธรรมเทศนา

หลวงพ่อพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) ท่านได้ให้ความเมตตาไว้วางใจแก่
พระราชญาณวิสิฐ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ร่วมกับ พระครูสมุห์ณัฐนันท์ กุลสิริ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 
ในการรวบรวม “วิชชาธรรมกายชั้นสูง” คือ มรรคผลพิสดาร เล่มที่ ๑  / มรรคผลพิสดาร เล่มที่ ๒

ต่อมาท่านก็ให้รวบรวม "วิชชาชั้นสูง เล่มที่ ๓” อีก 
และได้จัดพิมพ์เป็นเล่มไว้แจกแก่บุคคล (ที่ได้ธรรมกายแล้ว) 
หลังจากที่ได้มาฝึกปฏิบัติกับท่านพอสมควรแล้ว